
วันที่ 16 มิถุนายน 2565 พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี และคณะทำงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการโรงเรียนกองทุนการศึกษา ในพื้นที่อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนหนองปรือพิทยาคม โรงเรียนบ้านหนองสาหร่าย โรงเรียนบ้านห้วยหวาย และโรงเรียนประชามงคล ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งเพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษา พัฒนาโรงเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาทั่วประเทศ และมุ่งเน้นให้โรงเรียนมีบทบาทในการสร้างพื้นฐานให้ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม 3. มีงานทำ-มีอาชีพ 4. เป็นพลเมืองที่ดี โดยมี นายอำเภอหนองปรือ รองศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมกาญจนบุรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 2 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 4 คณะผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ อาสาสมัครและเครือข่ายการทำงานประจำพื้นที่ ผู้แทนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และผู้นำชุมชนเครือข่ายโรงเรียนต่างๆ ให้การต้อนรับ



โดย รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ได้ร่วมชี้แจง ทำความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ค.ศ ในส่วนที่มีความเชื่อมโยงกับโครงการโรงเรียนกองทุนการศึกษา โดยเฉพาะประเด็นของการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนเพื่อสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะใหม่ (PA) ที่ได้ปรับบทบาทของผู้บริหารโรงเรียนให้มีชั่วโมงสอน เพื่อให้มีเวลาลงสู่ห้องเรียน รับรู้ปัญหา และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด


รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของเกณฑ์อัตรากำลัง ก.ค.ศ. ได้วางแผนบริหารจัดการอยู่ในขณะนี้ คาดว่าใน 5-7 ปีข้างหน้าจะเห็นผล เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการปรับให้เข้าระบบที่วางไว้ โดย ก.ค.ศ. ได้เชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยการผลิตครู เช่น สภาคณบดี ในการวางแผนผลิตครูให้มีคุณภาพและมีจำนวนที่เหมาะสมเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ วPA ยังช่วยเหลือครูที่อยู่โรงเรียนในพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล โดยคุณครูเหล่านั้นสามารถขอลดระยะเวลาในการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะได้ ซึ่งรายชื่อโรงเรียนตามเกณฑ์นั้นมีโรงเรียนของโครงการกองทุนการศึกษานี้อยู่จำนวนหนึ่ง รวมถึงประเด็นด้านค่าตอบแทนพิเศษในพื้นที่ยากลำบาก ที่ได้นำเรื่องเสนอไปยัง ครม. แล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย





กลุ่มประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่